วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555


นวัตกรรมการเรียนการสอน



       คงจะมีหลายครั้งที่เราถามตัวเองว่า ทำไมต้องเรียนคณิตศาสตร์มากมายอย่างนี้ ในเมื่อเครื่องคิดเลขก็มี คอมพิวเตอร์ก็พัฒนาไปมาก หรือบางเรื่องของคณิตศาสตร์ที่ลงลึกมากๆ ก็ไม่เห็นจำเป็นต่อชีวิตประจำวันของเรา

          แต่หากได้พูดคุยกับ “ปรีชากร ภาชนะ” คุณครูแห่งโรงเรียนบ้านแท่นวิทยา จ.ชัยภูมิ เราอาจจะได้พบว่า คณิตศาสตร์เกี่ยวข้องกับชีวิตเรา จนบางครั้ง เราคาดไม่ถึง และมีวิธีการเรียนรู้คณิตศาสตร์แบบใหม่ ที่ไม่ได้ยากอย่างที่ผ่านมา

          คุณครูปรีชากรเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับทุนจากโครงการนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ โดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) จากทั้งสิ้น 207 โครงการ ให้จัดทำโครงการ “ระเบิดชั้นเรียน : คณิตศาสตร์ไม่ยากอย่างที่คิดด้วยวิธีการเรื่องราวและแผนภาพ” (Amazing Teaching : Mathematics make it easy by SDM approach) ซึ่งใช้ “ศิลปะ” เข้ามาสร้างความเข้าใจ “คณิตศาสตร์”
          วิธีการเรื่องราวและแผนภาพ หรือ SDM – Story and Diagram Method เป็นวิธีการใหม่ ซึ่งมาจากการวิจัยของ “ปสาสน์ กงตาล” ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยใช้เรื่องราวและแผนภาพเป็นสื่อการสอน มีปรัชญาของการสอนคือ เมื่อสนทนาเรื่องเดียวกันก็จะเกิดการคิดเพิ่มและขยายออกไป เนื่องจากนักเรียนแต่ละคนมีประสบการณ์และภูมิหลัง รวมถึงความสนใจและความถนัดที่แตกต่างกัน
          “การสอนแบบเดิม ผมรู้สึกอึดอัด เหมือนผมพูดอยู่คนเดียว ซึ่งไม่ใช่บรรยากาศของการเรียนรู้ ผลการประเมินที่ออกมาก็ไม่น่าพอใจ เพราะวิธีการเดิมไม่เหมาะกับปัจจุบัน ผมจึงต้องหาทางออก” ครูปรีชากรเล่าย้อนก่อนจะค้นหาวิธีการใหม่มาสอนคณิตศาสตร์
          “ได้มาใช้วิธีการเรื่องราวและแผนภาพ ซึ่งเป็นเครื่องมือสอนคณิตศาสตร์ให้เป็นคณิตศาสตร์ที่เด็กจะได้เห็นเรื่องราว โดยครูเป็นคนเริ่มเล่าเรื่องราว ที่มีปัญหาคณิตศาสตร์แฝงอยู่ พร้อมกับรูปภาพประกอบ โดยเรื่องราวอาจจะเป็นนิทาน เหตุการณ์ที่ทันสมัย เน้นความแปลกใหม่ สดใส หรือสวยงาม เพื่อเป็นขั้นเพื่อนำเข้าสู่บทเรียน เพื่อให้นักเรียนรับรู้ไปได้พร้อมๆกัน เพื่อให้ผู้เรียนได้คิดเอง แก้ปัญหาเอง หลอกล่อให้เด็กเข้าสู่คณิตศาสตร์โดยไม่รู้ตัว ให้เด็กได้คิดกันเป็นกลุ่ม”
          “แล้วให้เด็กสร้างสรรค์เองโดยนำสถานการณ์ของเรื่องราวมาผ่านมุมมองของนักเรียนเองหรือโดยการเพิ่มเติมเสริมแต่งเรื่องราวให้มีสีมากขึ้นโดยการวาดรูปและระบายสีประกอบหรือการเล่าเรื่องใหม่เอง ซึ่งอาจเป็นการดัดแปลงจากเรื่องอื่น หรือสร้างขึ้นมาเองทั้งหมดตามความสนใจ”
          เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ก็ย่อมเป็นธรรมดา ที่หลายคนอาจจะไม่คุ้น วิธีการสอนของครูปรีชากรก็เช่นกัน เขาบอกว่า “แรกๆเด็กต่อต้าน เพราะไม่เคยเจอมาก่อน แต่หลังจากใช้ไปพอสมควร เด็กรู้สึกว่า ได้คิดเอง ทำเอง และได้หาข้อสรุปเอง จึงเกิดความความมั่นใจที่จะนำเสนอผลงาน ทำให้เด็กๆได้ระเบิด ได้ระบายออกมา”
          “เด็กชอบไม่เหมือนกัน พื้นฐานก็ต่างกัน เด็กบางคนก็วาดเป็นภาพการ์ตูน บางคนก็วาดสิ่งที่เขาสนใจ มีเด็กผู้ชายอยู่คน เป็นเด็กหลังห้อง เขาเอาเรื่องแฟนเขามาเขียนเป็นเรื่องคณิตศาสตร์ ทำแบบง่ายๆ ทำให้เห็นว่า คณิตศาสตร์เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต เชื่อมโยงกับโลก กับความเป็นจริง”
          “ก่อนหน้านี้ เด็กบางคน เขารู้สึกว่า คณิตศาสตร์ เรียนไปทำไม ทำไมต้องทำแบบฝึกหัด เรียนไปก็ไม่ได้ใช้อะไร เครื่องคิดเลขก็มี แต่วิธีการเรื่องราวและแผนภาพนี้ทำให้เด็กนักเรียนได้เห็นว่า นี่ไง ! คณิตศาสตร์กับตัวเขา ที่จริงอยู่ในเรื่องเดียวกันนั่นเอง แล้วก็ทำให้ผลประเมินดีขึ้นด้วย”
          กระทั่ง สสค.เปิดรับโครงการในโครงการนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ เมื่อครูปรีชากรทราบเรื่อง เขาบอกถึงความรู้สึกตอนนั้นว่า “โป๊ะ ! เลยครับ สสค.จุดประกายผมขึ้นมาเลย เพราะจะมาช่วยให้เรื่องนี้ที่ผมทำอยู่ยั่งยืน ผมว่า มุมมองของผมกับ สสค.ตรงกันที่เราต้องการจะสร้างนวัตกรรมหรือวิธีการเรียนรู้ ซึ่งเรื่องนี้คือ การเรียนรู้คณิตศาสตร์ในมุมมองใหม่ บริบทใหม่ คือมีผู้เรียนเป็นที่ตั้ง”
          วิธีการเรื่องราวและแผนภาพนี้ นอกจากจะทำให้เด็กระเบิดตัวตน ระเบิดชั้นเรียนออกมาแล้ว ครูปรีชากรยังบอกว่า ทำให้เขาได้เรียนรู้คณิตศาสตร์ไปกับเด็กๆ ซึ่งเป็นความสุขอย่างหนึ่งของคนเป็นครูเช่นเขา
          “ความสุขของครูคือได้เรียนรู้ไปกับเด็กๆ เพราะเด็กจะมีวิธีคิดใหม่ๆออกมาเพิ่มเติม ครูก็มีความสุขไปกับเขาด้วย พวกเขาทำให้เรารู้สึกว่า เราตัวเล็กลง ส่วนเด็กๆนักเรียนตัวใหญ่ขึ้น” ครูปรีชากรบอกเล่าพร้อมรอยยิ้มอีกครั้ง
          โครงการนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ โดย สสค.จะเปิดรับโครงการเพื่อมอบทุนอีก 20 โครงการ จากกลุ่มสำรอง ภายใต้งบประมาณไม่เกิน 4 ล้านบาท ซึ่งจะมีตัวแทนจากโรงเรียนทั้ง 20 แห่งทั่วประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนและลงนามข้อตกลง ในวันที่ 14-15 ตุลาคมนี้
          รวมจะมีโครงการที่ได้รับทุนจาก สสค.ในโครงการนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ ทั้งสิ้น 227 โครงการจากทั่วประเทศ…